สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ปัญหาคู่บ้านของการสื่อสารในอุตสาหกรรม
สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า หรือ Electric Noise เป็นหนึ่งในปัญหาที่สายงานอุตสาหกรรมควรรู้และเตรียมรับมือเอาไว้ โดยเฉพาะสายที่ทำงานร่วมกับระบบโรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation; FA) เพราะสัญญาณรบกวนตัวนี้ นอกจากจะพบบ่อยในโรงงานแล้ว ยังมาพร้อมกับผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย บทความนี้จะมาอธิบายภาพรวมของสัญญาณรบกวนไฟฟ้า และแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้สัญญาณที่ว่าเข้ามารบกวนระบบโรงงาน
สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าคืออะไร
สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า (Electric Noise) คือ สัญญาณรบกวนความถี่สูงไม่พึงประสงค์ที่เข้ามาในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจเกิดขึ้นชั่วคราว เป็นๆ หายๆ หรือเกิดขึ้นถาวรก็ได้ โดยสัญญาณรบกวนชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) และ สัญญาณรบกวนทางคลื่นวิทยุ (RFI)
สัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) คืออะไร
สัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Interference) หรือ นิยมเรียกกันว่า EMI คือสัญญาณรบกวนที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในตัวนำ หรืออาจกล่าวว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มารบกวนอุปกรณ์ ก็ได้ โดยก่อให้เกิดผลกระทบ ดังต่อไปนี้
ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์จ่ายไฟ
ทำให้การทำงานของระบบวงจรขัดข้อง
ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบสนองไวต่อสิ่งกระตุ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน อาทิ อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ทางรถไฟ หรือขนส่งมวลชน
แหล่งกำเนิดแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกำลังแรงสูงอาจทำลายการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ใช้งานต่อไม่ได้
สัญญาณรบกวนทางคลื่นวิทยุ (RFI) คืออะไร
สัญญาณรบกวนทางคลื่นวิทยุ (Radio-Frequency Interference) หรือนิยมเรียกกันว่า RFI คือ สัญญาณรบกวนไม่พึงประสงค์ของคลื่นวิทยุ ซึ่งอาจเกิดได้ในหลายความถี่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อไปนี้
รบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์การนำทาง
รบกวนการรับคลื่นวิทยุ ขัดขวางการกระจายเสียง
อาจทำให้ข้อมูลเสียหาย เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในเรื่องเวลา
หากอุปกรณ์ชนิดนั้นตอบสนองไวและอยู่ใกล้กับ RFI ที่มีความเข้มข้นสูง อุปกรณ์อาจเสียหายถาวรได้
ทั้งนี้ เนื่องจาก EMI และ RFI มีความคล้ายคลึงกัน จึงอาจได้ยินหลายคนใช้เรียกแทนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็น EMI หรือ RFI ก็ล้วนคือสัญญาณที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น
ที่มาของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
ที่มาของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น EMI หรือ RFI นั้น มีหลากหลายช่องทาง โดยแบ่งกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็นที่มาภายนอก และที่มาภายใน ดังนี้
ที่มาภายนอก (External Source)
เกิดจากสิ่งเร้าภายนอก ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ อย่างพายุ ฟ้าผ่า หรือมาจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอาจสร้างคลื่นที่เข้ามาสู่อุปกรณ์ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากมาย ที่สามารถส่งผลกระทบได้ เช่น
ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง
สนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์
พายุฝุ่นและหิมะ
พายุฟ้าคะนอง
แหล่งกําเนิดที่มนุษย์สร้างขึ้น
อุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้าง อาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนได้เช่นกัน โดยอาจมีการแผ่สัญญาณอันไม่พึงประสงค์ไปยังอุปกรณ์แวดล้อม โดยอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว อาทิ
อุปกรณ์ในโรงงาน เช่น
เครื่องเชื่อมไฟฟ้า
หม้อแปลงไฟฟ้า
มอเตอร์ไฟฟ้า
เครือข่ายเซลลูลาร์
อินเวอร์เตอร์ (VFD)
ระบบไร้สายต่างๆ เช่น
ระบบไร้สายบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์
บลูทูธ
เมาส์ไร้สาย
Edge, 3G, 4G, LTE
อุปกรณ์ที่มีสวิตช์ชิงโหลดเกิน 2 แอมป์ เช่น
แผงวงจร
จอภาพ CRT
เครื่องส่งสัญญาณ
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น
ไมโครเวฟ
หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า
ที่มาภายใน (Internal Source)
แม้จะไม่มีสิ่งเร้าใดๆ จากภายนอก แต่สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าก็อาจเกิดได้จากส่วนประกอบในตัววงจรเอง โดยอาจมาจากการออกแบบที่บกพร่อง เช่น ออกแบบสวิตช์เกียร์ไม่เหมาะสม หรือมีการเชื่อมต่อตัววงจรที่หลวมเกินไป
ที่มาภายในที่พบบ่อย ได้แก่
Thermal noise สัญญาณรบกวนสีขาวที่เกิดจากอิเล็กตรอนเคลื่อนที่แบบสุ่ม เมื่ออุณหภูมิในวงจรสูงขึ้น
Shot noise เกิดจากอิเล็กตรอนในวงจรเคลื่อนที่ไปมาแบบไม่ต่อเนื่อง
Partition noise เกิดจากความผันผวนของกระแสไฟฟ้าในวงจร
Flicker noise เกิดจากความถี่ของสเปรกตรัมในวงจรตกไปอยู่ในความถี่ที่สูงขึ้น
Burst noise เกิดจากแรงดันหรือกระแสไฟฟ้ามากกว่าสองระดับเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
Transit-time noise เกิดจากความถี่ที่สูงขึ้น เพิ่มการนำไฟฟ้ามากขึ้น
สังเกตสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
ยิ่งรู้เท่าทันว่าเกิดสัญญาณรบกวนไฟฟ้าขึ้นในระบบเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น เพราะจะช่วยให้สามารถหาต้นเหตุ แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ทัน แม้ว่าปกติแล้วสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าจะมีรูปแบบไม่ชัดเจน และคาดเดาได้ยาก แต่เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากความผิดปกติต่างๆ ดังนี้
เสียงแปลกๆ
หากได้ยินเสียงแปลกประหลาดที่นอกเหนือไปจากเสียงการทำงานปกติของอุปกรณ์นั้นๆ อาจแปลว่ากำลังเกิดสัญญาณรบกวนขึ้น ซึ่งตัวอย่างเสียงแปลกๆ ดังกล่าว เช่น
เสียง ฟู่ ในเครื่องรับวิทยุ
เสียง ซ่า ในโทรศัพท์
เสียงรบกวนในสัญญาณไมโครโฟน
เสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากเครื่องจักร
ระบบรวน
การทำงานผิดปกติไปจากเดิม ก็เป็นสัญญาณว่ามีสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าเข้ามาในระบบเช่นกัน ลองสังเกตว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่
จอแสดงผลกะพริบ ผันผวน ดับ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ไม่เสถียร
ระบบโทรศัพท์รวน
เครื่องมือทำงานผิดพลาด
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานผิดปกติ
ไฟมัว ไฟหรี่
แรงดันไฟฟ้าหรือกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
การควบคุมไม่เสถียร
ฯลฯ
ผลกระทบของสัญญาณรบกวน ใน Factory Automation
เมื่อเห็นภาพรวมของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าไปแล้ว หัวข้อถัดมาจะมาสำรวจผลกระทบของสัญญาณรบกวนชนิดนี้ในระบบโรงงานอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Factory Automation (FA) กันให้มากขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลกระทบของปัญหาสัญญาณรบกวนใน PLC Communication
PLC คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร มักใช้ในระบบโรงงานอุตสาหกรรม โดยสัญญาณรบกวนมักเข้ามาใน PLC ได้ผ่านทางชุดโมดูลอินพุต เอาต์พุต หรือทางสายไฟเลี้ยง หากสัญญาณรบกวนเข้ามาในระบบ PLC ในจำนวนมากๆ ก็จะทำให้เครื่องจักรทำงานผิดพลาดชั่วคราว และเกิดเสียงรบกวนเป็นระยะ
ผลกระทบของปัญหาสัญญาณรบกวนใน Fieldbus
Fieldbus คือ สื่อกลางที่ใช้สื่อสารระหว่างอุปกรณ์อินพุต-เอาต์พุต มีจุดเด่นคือเป็นระบบสื่อสารข้อมูลที่ให้อุปกรณ์จำนวนมากใช้สายเคเบิลสายเดียวกันได้ โดย Fieldbus มีหลายหลากรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระดับของการสื่อสาร
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าเข้ามาใน Fieldbus คือ อาจทำให้การสื่อสารกับอุปกรณ์เครือข่ายมีปัญหา ชิ้นส่วนเสียหาย หรือเกิดไฟโอเวอร์โหลดได้
ผลกระทบของปัญหาสัญญาณรบกวนใน Broadband Network
Broadband Network คือ เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลในความเร็วสูงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากมีสัญญาณรบกวนเข้ามาในระบบ Broadband Network สัญญาณในเครือข่ายที่ควรเร็วนั้นก็จะช้าลง ทำให้อัตราการถ่ายโอนข้อมูลลดลงตามไปด้วย และหากสัญญาณรบกวนนั้นมีมากๆ อาจทำให้เกิดปัญหาข้อมูลสูญหายระหว่างรับส่งได้
วิธีป้องกันและแก้ปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
แม้ว่าปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การเลือกระบบและอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานในการผลิต รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์กรองและกีดขวางสัญญาณแปลกปลอมก็สามารถช่วยลดปัญหาไม่ให้มีมากเกินจนเกิดผลกระทบได้ วิธีป้องกันสัญญาณรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในเบื้องต้น มีดังนี้
ติดตั้งระบบกราวด์ที่ดี
กราวด์ คือ ส่วนที่เป็นจุดเชื่อมต่อของกระแสไฟฟ้าที่ไป-กลับจากหลากหลายที่ การติดตั้งระบบกราวด์ที่ดีจึงเป็นเหมือนขั้นตอนพื้นฐานที่ควรทำ ในการป้องกันปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าที่มีเซนเซอร์จำนวนมาก การติดตั้งระบบกราวด์ที่ดีจะช่วยลดสัญญาณรบกวนจากระบบได้ ซึ่งองค์ประกอบของการออกแบบระบบกราวด์ที่ดีมีหลากหลายปัจจัย เช่น ใช้ลวดขนาดเล็กเพื่อลดโอกาสในการส่งต่อสัญญาณรบกวน EMI เลือกแผงสังกะสีเคลือบไฟฟ้า เลี่ยงการออกแบบที่ใช้กราวด์หลายตัว เป็นต้น
ไม่วางอุปกรณ์ที่สร้างสัญญาณรบกวนสูงไว้ใกล้กัน
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นที่มาภายนอกของสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ดังนั้น ยิ่งอุปกรณ์อยู่ใกล้กัน ก็ยิ่งมีโอกาสรบกวนกันได้มากขึ้น โดยอุปกรณ์บางชนิดที่มักสร้างสัญญาณรบกวนสูง เช่น หม้อแปลงขนาดใหญ่ หรือเครื่องเชื่อมความถี่สูง ยิ่งไม่ควรวางไว้ใกล้กัน
ลดความถี่ Carrier Frequency
ความถี่พาหะ หรือ Carrier Frequency คือ ความถี่ที่ใช้ในการสร้างสัญญาณให้ชุด PWM ที่ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับมอเตอร์ การปรับความถี่ของชุด PWM ให้ลดลงจึงอาจช่วยลดสัญญาณรบกวนได้ในเบื้องต้นได้
ใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันการเกิดสัญญาณ
อีกหนึ่งตัวเลือกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า คือ การใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นกำแพงป้องกันสัญญาณรบกวนโดยเฉพาะ ตามปกติแล้วจะนิยมใช้อุปกรณ์ชนิดที่เป็น Filter และ Shielding
ใช้อุปกรณ์ Filter
อุปกรณ์ Filter หรืออาจเรียกกันว่า Noise Filter หรือ EMI/RFI Filter คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ลดสัญญาณรบกวนโดยใช้วิธีการกรองสัญญาณแปลกปลอมออก ไม่ให้สัญญาณนั้นเดินทางเข้าสู่วงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือเข้าสู่แหล่งจ่ายไฟ ซึ่งในโรงงานมักจะติดตั้งอุปกรณ์ Filter ตัวนี้ไว้ที่ด้านอินพุตของอินเวอร์เตอร์ (VFD) โดยอุปกรณ์ Filter ที่นิยมใช้กัน เช่น ก้อนเฟอไรต์ (Ferrite Bead)
ใช้อุปกรณ์ Shielding
อุปกรณ์ Shielding หรืออาจเรียกกันว่า EMI/RFI Shielding คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสิ่งกีดขวาง ช่วยป้องกันการรั่วไหลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง โดยใช้วัสดุ เช่น อะลูมิเนียม เบริลเลียมคอปเปอร์ ทองเหลือง ทองแดง สเตนเลส ฯลฯ มาเป็นกำแพง
เลือกระบบและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
การผลิตระบบและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในโรงงาน มักจะต้องคำนึงถึงสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยมักออกแบบไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดสัญญาณรบกวนภายในจากในระบบเอง และมีความต้านทานต่อสัญญาณรบกวนที่มาจากภายนอก การออกแบบข้างต้นจะต้องมีการทดสอบเพื่อให้ได้รับมาตรฐานต่างๆ เป็นการยืนยันว่าอุปกรณ์มีประสิทธิภาพจริง
ดังนั้น ในการเลือกระบบ แนะนำให้เลือกระบบที่มีการรับรองมาตรฐานต่างๆ อาทิ
มาตรฐาน IEEE มาตรฐานการสื่อสารข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อีเธอร์เน็ตและเครือข่ายไร้สาย ระบบที่ได้มาตรฐาน IEEE เช่น เครือข่ายความเร็วสูงพิเศษ CC-Link IE Field
มาตรฐาน EMC มาตรฐานที่รับรองว่าอุปกรณ์มีชิ้นส่วนและกลไกที่มีภูมิคุ้มกันต่อสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า และสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยไม่ก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนไฟฟ้าต่อสิ่งอื่นๆ ที่แวดล้อม ทั้งนี้ EMC แบ่งออกได้เป็นหลากหลายมาตรฐานย่อย ขึ้นอยู่กับว่ารับรองโดยองค์กรใด อาทิ
ISO ยึดตามมาตรฐานที่รับรองโดยสหภาพยุโรป
IEC ยึดตามมาตรฐานนานาชาติ
นอกจากเลือกระบบที่มีมาตรฐานแล้ว ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีการรับรองมาตรฐาน EMC แบบสากล เช่น ISO และ IEC เช่นกัน ตัวอย่างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน เช่น
PLC ที่มีมาตรฐานสากล
PLC หรือ Programmable logic Control (PLC) คือ อุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรที่สามารถโปรแกรมได้ นิยมใช้งานในโรงงานอัตโนมัติ โดยใช้ได้ทั้งระบบงานง่ายๆ หรือนำมาต่อกันเป็นเครือข่ายที่มี PLC หลายตัว เพื่อใช้งานในงานที่มีความซับซ้อนก็ได้ แน่นอนว่ายิ่งมีหลายตัวยิ่งต้องระวังเรื่องสัญญาณรบกวน ดังนั้น การเลือก PLC ควรเลือกที่ได้รับรองมาตรฐาน EMC เช่น มาตรฐาน IEC 61131
สายเคเบิลที่ช่วยกันสัญญาณรบกวน
สายเคเบิลที่ได้มาตรฐานมักจะมีกลไกป้องกันสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าอยู่ในตัว เช่น ออกแบบเป็นสายเคเบิลแบบ Dual Loop หรือเรียกว่า สายเคเบิลออปติคัลแบบวงคู่ ซึ่งช่วยเป็นเกราะกันทั้งสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) และสัญญาณรบกวนความถี่วิทยุ (RFI) พร้อมทั้งมีฟังก์ชันลูปแบ็ค ช่วยป้องกันการสูญหายของข้อมูล แม้มีการถอดสายเคเบิล หรือแหล่งจ่ายไฟสูญหายก็ตาม
หากสายเคเบิลไม่ได้เป็นแบบ Dual Loop ก็มักจะมีฉนวนกันสัญญาณรบกวนพันอยู่กับสายเคเบิล ทั้งนี้ เมื่อมองหาสายเคเบิล อาจมองหามาตรฐาน IEC เช่น IEC60793-2-10 และ IEC61754-20 เป็นต้น
อุปกรณ์แปลงสัญญาณไฟฟ้าที่ทนสัญญาณรบกวน
อุปกรณ์แปลงสัญญาณไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน (Industrial Media Converter) หรือเรียกว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับเดินไฟเบอร์ออฟติกระยะไกล ควรเลือกใช้แบบที่ทนทั้งอุณหภูมิและทนสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า รวมถึงมองหามาตรฐาน เช่น มาตรฐาน UL จาก Underwriters Laboratories มาตรฐานความปลอดภัย CE จาก European Union หรือมาตรฐาน FCC จาก Federal Communications Commission รวมถึงมีการทดสอบและได้รับมาตรฐานจาก EMC ร่วมด้วย
ตัวอย่างอุปกรณ์แปลงสัญญาณที่มาพร้อมมาตรฐานทั้ง UL, CE และ FCC รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อสัญญาณรบกวน เหมาะกับ Factory Automation เช่น DMC-1000TS-DC/DMC-1000TL-DC
แผ่นวงจรพิมพ์ (PC Board) ที่ออกแบบให้มี EMI ต่ำ
แผ่นวงจรพิมพ์ หรือ PC Board คือ แผ่นติดตั้งวงจรไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากออกแบบไม่ดี เช่น วางไดรเวอร์นาฬิกาใกล้ขอบบอร์ด วางไดรเวอร์ใกล้วงจรที่ไวต่อสิ่งเร้า วางเลเยอร์ไม่ถูกต้อง หรือผสมวงจรที่ไม่เข้ากันเข้าด้วยกัน ก็มีแนวโน้มจะเจอสัญญาณรบกวนมาก โดยเฉพาะ EMI ดังนั้น เมื่อเลือกแผ่นวงจรพิมพ์ จะต้องพิจารณาการออกแบบร่วมด้วย
โซลินอยด์วาล์ว (Solenoid Valve) ที่มีคุณภาพ
โซลินอยด์วาล์ว คือ อุปกรณ์คุมปริมาตรการไหลของของไหล รวมถึง แก๊สต่างๆ โดยมักจะมีขดลวดพันแม่เหล็กอยู่ในส่วนประกอบ และกระแสไฟฟ้าก็จะปล่อยผ่านขดลวดตัวนี้ ดังนั้น หากจะเลือกโซลินอยด์วาล์วที่ดีควรเลือกแบบที่ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง เพื่อหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าที่จะเข้ามาปะปนกับกระแสไฟฟ้า กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานได้
คงจะได้คำตอบกันไปแล้วว่าสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า รวมไปถึง EMI และ RFI คืออะไร โดยความหมายง่ายๆ ก็คือ คลื่นความถี่ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานไม่ปกติ หรืออาจถึงขั้นเสียหาย ในด้านวิธีป้องกันสัญญาณรบกวน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือการป้องกันคลื่นวิทยุ สามารถทำได้โดยการเลือกระบบที่มีมาตรฐาน ติดตั้งกราวด์ที่เหมาะสม และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกัน ต้าน หรือลดสัญญาณรบกวนนั่นเอง
บทความแนะนำ
- เว็บไซต์สมาชิก
CC-Link Partner
Association (CLPA)