Cobot คืออะไร มีอะไรบ้าง ? ต่างจาก Robot ยังไง
ในโลกยุค 2022 ยุคที่เต็มที่ด้วยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตให้ ตอบสนองงานที่เกินขีดจำกัดที่มนุษย์จะสามารถทำได้
ซึ่ง Cobot (โค-บอท) คือ หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน ที่ทางสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ ได้ให้คำนิยาม Cobot (โค-บอท) ว่าคือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อยุคสมัยผ่านไป หลายๆ อุตสาหกรรมมีการนำ Cobot มาใช้อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต
Cobot คืออะไร?
เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นหูกับคำว่า Cobot หรืออาจเคยได้ยินเพียงแต่คำว่า Robot แต่ถ้าหากว่ามีโอกาสทำงานในภาคอุตสาหกรรมมาบ้าง ก็อาจจะเคยได้ยินคำนี้ โดย Cobot หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Collaborative Robots คือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน ISO 10218-1 หรือภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยอื่นๆ ซึ่งเป็นคำนิยามมาจากสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ จึงทำให้เป็นที่รู้ร่วมกันว่า Cobot คือ ผู้ช่วยที่เปรียบเสมือนแขนขวาที่เพิ่มขีดความสามารถ และประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ใช้ดีและเฉลียวฉลาดยิ่งขึ้น
สำหรับลักษณะจำเพาะของ Cobot คือ เครื่องยนต์ที่มีแขนกล ขนาดกะทัดรัด ซึ่งทำงานร่วมกับมนุษย์ในโต๊ะทำงานเดียวกัน หรือในพื้นที่เดียวกัน ในส่วนงานที่มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยมีอีกชื่อเรียกว่า Desktop Robot Arm จึงทำให้ Cobot คือ เครื่องมือสำคัญที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจาก Cobot เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบเซ็นเซอร์ประสิทธิภาพสูง ที่สามารถเพิ่ม-ลดความเร็ว หลบหลีก หยุดทำงานได้เองเมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าใกล้ อีกทั้งสามารถตรวจสอบและผลิตชิ้นงานที่อาศัยความละเอียด รวมถึงมีความซับซ้อนได้อย่างดีเยี่ยมโดยไม่มีข้อผิดพลาด จึงทำงานแทนมนุษย์ในส่วนงานที่ก่อเกิดอันตราย และในส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม
Cobot ต่างจาก Industrial Robot ยังไง?
หากนิยามยุคปัจจุบันที่ทุกคนอาศัยอยู่ อาจเรียกได้ว่านี่คือยุค Automate almost anything นั่นหมายความว่า Cobots คือเครื่องจักรอัจฉริยะที่อัปเกรดมาจาก Industrial Robot จึงทำให้มีความพิเศษแตกต่างจากเครื่องจักรดั้งเดิม ดังนี้
ลักษณะภายนอก
สิ่งที่เห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่าง Cobot และ Industrial Robot ได้อย่างชัดเจนคือ ลักษณะภายนอกของตัวเครื่อง เนื่องจาก Cobot หรือ Collaborative Robots คือมือแขนกลอัจฉริยะที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก น้ำหนักเบา และเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก ในขณะที่ Industrial Robot มักตั้งติดอยู่กับที่เคลื่อนย้ายยาก ใช้โลหะหรือวัสดุที่มีความทนทานสูง เป็นวัสดุในการผลิต เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อถูกกระแทกแรงๆ ได้
การใช้งาน
แน่นอนแม้ว่าทั้ง 2 อย่างนี้จะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานภายในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ แต่การใช้งานและการทำงานของเครื่องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามวัตถุประสงค์ที่สร้างทั้งสองเครื่องนี้ขึ้นมา ดังนี้
Cobot คือ เครื่องจักรที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับพนักงานที่เป็นมนุษย์โดยเฉพาะ โดยช่วยพนักงานทำงานในส่วนที่มีความเสี่ยง หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากมีระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถแยกระหว่างงานกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากมีมนุษย์หรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบ เครื่องจะหยุดทำงานทันที อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวที่ช้าและนุ่มนวล จึงปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อพนักงาน นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนและตั้งโปรแกรมได้ง่าย ทั้งยังเรียนรู้ จดจำ และทำซ้ำได้เองเพียงแค่เปลี่ยนคำสั่ง เหมาะกับลักษณะงานที่มีความซับซ้อน แต่อันตรายเกินกว่าที่มนุษย์จะทำด้วยตัวเอง จึงต้องมีการทำงานร่วมกันกับมนุษย์ถึงจะทำให้งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Industrial Robot คือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์ทำให้กระบวนการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานจากมนุษย์เลย แต่ Industrial Robot เป็นเครื่องจักรที่เซตระบบการทำงานเอาไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานได้ หรือต้องใช้วิศวกรเขียนโปรแกรมใหม่หากต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงาน โดยเหมาะกับงานเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่และหนัก อย่างงานผลิตรถยนต์ เป็นต้น จึงทำให้พนักงานสามารถทำงานส่วนอื่นได้ หากใช้ Industrial Robot ในการทำงาน
ค่าใช้จ่าย
เครื่องจักรทั้งสองเครื่องนี้มีวัสดุ และการใช้งานที่แตกต่างกันทำให้ค่าใช้จ่ายจนถึงการดูแลรักษาย่อมแตกต่างกัน
Cobot มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ยิ่งในบางยี่ห้อมีการออกแบบให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องให้เข้ากับการทำงานหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังส่วนประกอบไม่มากนัก จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการซ่อมบำรุงและการดูแลรักษาลงได้
Industrial Robot มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เนื่องจากเป็นเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน จึงมีต้นทุนในการผลิตสูง อีกทั้งยังค่าใช้จ่ายในส่วนของการซ่อมบำรุงและการดูแลรักษาก็มากกว่าด้วยเช่นกัน
Cobot มีกี่ประเภท?
Cobot หรือ Collaborative Robots แม้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมานาน แต่กลับเพิ่งจะมีการกำหนดประเภทของ Cobot ในปี 2016 โดยสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
Power and Force Limiting
Power and force limiting คือ Cobot ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเครื่องมีลักษณะที่ความโค้งมน ไม่มีขอบแหลมคม โดยดีไซน์มาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์โดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยเพิ่มเติม และยังมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของพนักงานเพื่อป้องกันการปะทะ ซึ่งหากมีการปะทะเกิดขึ้น เครื่อง Cobot ก็จะหยุดการทำงานอย่างทันที โดยมักใช้งานคู่กับแขนหุ่นยนต์ที่มีความเร็วต่ำ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่พนักงานหากมีการปะทะขึ้นมาจริงๆ โดยแบ่งความปลอดภัยออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
Joint Sensing Cobot เป็น Cobot ที่มีลักษณะเฉพาะเพราะใช้ เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงบิด (Force-torque sensor) ภายในข้อต่อส่งกระแสของมอเตอร์เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์
Skin sensing Cobot โดย Cobot ประเภทนี้มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะมีระบบเซ็นเซอร์ที่คอยระวังส่งคำแนะนำในการหยุดเคลื่อนไหวก่อนที่จะมีการปะทะเกิดขึ้น โดยใช้พื้นผิวเพื่อตรวจจับแรงปะทะที่กระทบเข้ามา
Force sensor base Cobot สำหรับ Cobot ประเภทนี้มีลักษณะการทำงานคล้ายๆ Joint Sensing แต่มีการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงบิด (Force-torque sensor) ทำให้สามารถคงความไวและรับวัตถุที่มีน้ำหนักมากได้ และยังเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว
Inherently safe Cobot เป็น Cobot ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับวัตถุที่มีน้ำหนักน้อย และเหมาะกับการใช้งานที่ไม่หนักมากนัก จึงเป็น Cobot ที่ไม่ทำอันตรายต่อผู้ใช้เลย
Safety Monitored Stop
สำหรับ Safety Monitored Stop เป็น Cobot ที่ถูกพัฒนาขึ้นจาก Industrial Robot ทั่วไป จึงมีการทำงานร่วมกับมนุษย์น้อยที่สุด แต่ประสิทธิภาพของระบบเซ็นเซอร์ยังคงทำงานได้อย่างดีเยี่ยม เพราะถ้าหากว่าพบว่ามีมนุษย์เข้ามายังโซนหรือพื้นที่ที่ Cobot กำลังทำงานอยู่ ระบบเซ็นเซอร์จะตรวจจับและหยุดทำงานทันที เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานได้รับความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดจากการทำงานของเครื่อง
Speed and Separation
มาถึง Speed and Separation เป็น Cobot ที่มีระบบการทำงานที่คล้ายกับ Safety Monitored Stop แต่มีข้อแตกต่างกัน ก็คือ Speed and Separation จะมีการทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น โดยที่ระบบเซ็นเซอร์จะทำหน้าที่ตรวจจับสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า ระบบ “Vision System” ซึ่งจะแบ่งโซนการดูแลความปลอดภัย ดังนี้
Warning Zone คือ โซนเฝ้าระวัง โดยเครื่อง Cobot จะทำงานช้าลง เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามายังโซนดังกล่าว
Stop Zone คือ โซนอันตราย โดยเครื่องจะหยุดทำงานทันทีเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามายังโซนนี้ และจะกลับมาปฏิบัติงานอีกครั้งเมื่อมีคนออกไป
Hand Guiding
เป็น Cobot ตัวล่าสุดที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยถูกออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ใช้งานสามารถออกคำสั่งหรือใช้มือบังคับ Cobot ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้เพื่อเรียนรู้การทำงานรูปแบบใหม่ๆ ตามชื่อ Hand Guiding เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สามารถใช้งาน Cobot ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมใหม่ ช่วยลดเวลาการทำงาน และสามารถนำไปปรับให้เข้ากับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
ประโยชน์จากการใช้ Cobot ในการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง?
Cobot ถูกนำมาใช้งานร่วมกับมนุษย์เพื่อลดภาระพนักงาน และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และการนำ Cobot มาใช้ยังมีข้อดีอย่างมากมาย ดังนี้
ประหยัดเวลา
แน่นอนว่าในปัจจุบัน Cobot เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถติดตั้งโปรแกรมได้อย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็ว เพราะมีซอฟต์แวร์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน มีอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน จึงสะดวกต่อการติดตั้งเข้าไปในเครื่อง นอกจากนี้ Cobot คือ หุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้ จดจำการทำงานใหม่ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันได้ จึงพร้อมใช้งานอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้น
มีความแม่นยำสูง
การทำงานด้วยเครื่องยนต์ที่ถูกเซตโปรแกรมการทำงานเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ย่อมดีกว่าการทำงานด้วยแรงของมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหนื่อยล้าเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและความแม่นยำตกลงได้เมื่อรู้สึกหมดแรง แตกต่างจากการใช้ Cobot ที่มีความแม่นยำสูง มีประสิทธิภาพการทำงานคงที่และเหนือกว่ากำลังของมนุษย์ จึงทำให้คุณภาพของงานคงที่และสม่ำเสมอ
ใช้งานได้หลากหลาย
การใช้งานที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำ Cobot มาใช้ร่วมกับมนุษย์ เพราะ Cobot คือเครื่องมือที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เพียงแค่ครั้งเดียวก็ทำให้สามารถเข้าถึงการทำงานทั้งหมดได้ อีกทั้งยังสามารถใช้งานง่าย เรียนรู้ และจดจำการทำงานใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ด้วยขนาดที่กะทัดรัดจึงสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก จึงทำงานได้หลากหลาย และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เพิ่มความปลอดภัยให้มนุษย์
แน่นอนว่า Cobot คือสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ จึงมีมาตรการทางด้านความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับและหยุดทำงานเมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในบริเวณที่เครื่องยังคงทำงานอยู่ รวมถึงสามารถทำงานแทนมนุษย์ในส่วนที่มีความเสี่ยง อาทิ งานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ความร้อน และสารเคมี จึงช่วยลดภาระงานของมนุษย์ เพื่อให้พนักงานสามารถนำความรู้ไปทำส่วนอื่นที่ควรใช้มนุษย์ทำจริงๆ ดีกว่า
เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
การมีอยู่ของ Cobot ช่วยในการเพิ่มกำลังผลิต โดยผสมผสานการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ Cobot เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ได้รับผลผลิตมากขึ้น และผลประกอบการดียิ่งขึ้น ตามลำดับ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษายังลดลง จึงช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้แก่อุตสาหกรรม และสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้
หลังจากทราบแล้วว่า Cobot คืออะไร และระหว่าง Cobot กับ Industrial Robot นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร อาจทำให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถตัดสินใจได้ว่าควรใช้งานหุ่นยนต์แบบไหนในธุรกิจของตัวเอง โดย Cobot นั้นถือว่าเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน ลักษณะ หรือค่าใช้จ่าย รวมถึงประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระจากมนุษย์ ประหยัดเวลา สามารถใช้งานได้หลากหลาย มีความแม่นยำ และความปลอดภัยสูง แถมยังมีให้เลือกใช้มากถึง 4 ประเภท เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุด
บทความแนะนำ
- เว็บไซต์สมาชิก
CC-Link Partner
Association (CLPA)