Proactive Maintenance คืออะไร
การบำรุงรักษาแบบ Proactive Maintenance คือการนำข้อมูลของเครื่องจักรมาอ่านประกอบการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เครื่องจักรเสียหาย แล้วค่อยทำการบำรุงรักษา การทำงานในเชิงรุก เช่นนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่แม่นยำกับเครื่องจักร ให้มีความ Realtime และชัดเจนที่สุด ทำให้เหมาะกับโรงงานที่มีการติดตั้งระบบดิจิทัลที่สามารถอ่านค่าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อย่างที่สภาพของเครื่องจักรเป็นอยู่จริง
ในทุกๆ โรงงานเองก็ล้วนต้องมีระบบการบำรุงรักษาในการดูแลคุณภาพของเครื่องจักรกันทั้งสิ้น ซึ่งหลายโรงงานอาจจะเลือกใช้ระบบการบำรุงรักษาอื่นๆ เช่น การบำรุงรักษาเชิงรับที่จะซ่อมแซมเครื่องจักรเมื่อเครื่องจักรล้มเหลว หรือการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกันให้เครื่องจักรไม่เสียหายให้ได้มากที่สุด
ซึ่งการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาโรงงานเองก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างขาดไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานไหนก็ตาม เนื่องจากเครื่องจักรที่เป็นเหมือนกับหัวใจหลักของโรงงานนั้น ล้วนต้องการการบำรุงรักษากันทั้งสิ้นในการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และศักยภาพในการทำงานให้ดำเนินต่อไปได้ ทำให้กลยุทธ์อย่าง Proactive Maintenance เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก
ทำความรู้จักกับระบบ Proactive Maintenance
Proactive Maintenance คือระบบกลยุทธ์ที่จะทำการคำนวณเพื่อหาจุดที่มีความคุ้มค่ากับการซ่อมแซมมากที่สุด แล้วจึงค่อยทำการซ่อมแซม ซึ่งจะแตกต่างจากการใช้งานเครื่องจักรไปเรื่อยๆ จนพัง แล้วค่อยซ่อมทีเดียว ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูง ทั้งค่าอะไหล่ และค่าเสียเวลาในการผลิตของเครื่องจักรที่เสียไป เพราะว่ายิ่งเครื่องจักรพังมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องเปลี่ยนอะไหล่เยอะขึ้น และต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมมากขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเครื่องจักรพังมากๆ เข้า ค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาก็จะเพิ่มพูนตามขึ้นไปอีก ทำให้เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพความคุ้มค่าในการซ่อมแซมเลย แถมยังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอื่นๆ ที่เชื่อมต่อหรืออยู่โดยรอบกับเครื่องจักรอีกด้วย
ในขณะเดียวกันการดูแลเครื่องจักรถี่เกินไปก็จะนำมาสู่การขัดขวางการทำงานของเครื่องจักร เพราะทุกครั้งที่มีการตรวจสอบ หรือซ่อมแซมเครื่องจักร ย่อมต้องถูกหยุดใช้งาน ทำให้เกิดค่าเสียเวลา และเปลืองค่าอะไหล่บางอย่าง ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนด้วย ทำให้แม้ว่าการพยายามดูแลรักษาเครื่องจักรอยู่บ่อยๆ ที่ดูดีโดยผิวเผิน กลับเป็นทางเลือกที่ไม่มีประสิทธิภาพไปแทน
ในขณะที่ Proactive Maintenance จะทำการเก็บข้อมูลเพื่อหาจุดตรงกลางที่ เครื่องจักรเสื่อมโทรมจนคุ้มค่าที่จะปรับปรุง ซ่อมแซม แล้วจึงค่อยทำ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นวิธีการดูแลเครื่องจักรที่รักษาประสิทธิภาพการทำงาน และความคุ้มค่ากับเม็ดเงินได้สูงสุด จัดเป็นการบำรุงรักษาในเชิงรุก ที่ทำก่อนปัญหาจะบานปลาย
โดย Proactive Maintenance จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นต่อเนื่องไปได้อีกตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะมีหลักการทำงาน จากการดูข้อมูลของเครื่องจักร เพื่อที่จะหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการซ่อม โดยที่มีความคุ้มค่าทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และทรัพยากรมากที่สุด
ประเภทของ Proactive Maintenance การบำรุงรักษาเชิงรุก
การทำงานของ Proactive Maintenance หรือ การทำงานของการบำรุงรักษาเชิงรุกเองก็มีอยู่หลายประเภท ที่จะมีเงื่อนไขในการบำรุงรักษาแตกต่างกันไป โดยทุกวิธีล้วนมีลักษณะร่วมกันอยู่ที่การตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรว่าต้องการการซ่อมแซมแล้วหรือยัง และการบำรุงรักษาก่อนที่เครื่องจักรจะพังหรือทำงานผิดพลาด เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการบำรุงรักษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเภทของการบำรุงรักษาเชิงรุกก็สามารถแบ่งได้ดังนี้
Periodic Maintenance (PM)
มีอีกชื่อว่า Scheduled maintenance หรือ Time-based maintenance จะเป็นการบำรุงรักษาเชิงรุกที่จะเริ่มจากการประเมินสภาพของเครื่องจักร จากนั้นก็จะวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำการซ่อมแซมเมื่อไหร่ เช่น จะซ่อมใน 3 เดือนข้างหน้า เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะมีทั้งการซ่อมแบบครั้งเดียว หรือเป็นการซ่อมแบบทำซ้ำเรื่อยๆ ก็ได้ และเมื่อมีการซ่อมแซมแล้ว ก็อาจทำการเก็บข้อมูล ประเมินสภาพอีกครั้ง เพื่อที่จะเลือกว่าจะเปลี่ยนตารางเวลาในการซ่อมแซมหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การบำรุงรักษาเชิงรุกในแบบอื่นๆ
Condition-Based Maintenance (CBM)
เป็นเทคนิคการบำรุงรักษาเชิงรุกที่จะมีการวัดสภาพของเครื่องจักรตามเวลาจริง (Real Time) ด้วยระบบเซนเซอร์ เมื่อพบถึงสิ่งแปลกปลอมในการทำงานของเครื่องจักร หรือค้นพบว่าประสิทธิภาพของเครื่องจักรตกต่ำกว่ามาตรฐานที่พึงพอใจ ซึ่งเทคนิคแบบนี้ก็จะเรียกว่า Condition Monitoring
จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะเริ่มสร้างแผนการซ่อมแซม บำรุงรักษาทันที ส่งผลให้สามารถทำการซ่อมแซมได้ก่อนที่ความผิดพลาดของเครื่องจักรจะก่อความเสียหายขึ้น หรือคุณภาพของเครื่องจักรจะต่ำลงจนทำให้เสียรายได้ไปเกินจำเป็น
Planned Corrective Maintenance (PCM)
มีอีกชื่อว่า Scheduled Corrective Maintenance หรือ Deferred Corrective Maintenance จะเป็นขั้นตอนที่มักทำหลังจากที่เครื่องจักรเกิดความผิดปกติ หรือ เสียหาย โดยมีเป้าหมายไปที่หาสาเหตุ และ แก้ไข ป้องกัน ไม่ให้เกิดซ้ำอีก ในภายภาคหน้า ซึ่งการบำรุงรักษาเช่นนี้ เป็นขั้นตอนที่พัฒนาขึ้นมาจากไอเดียการ บำรุงรักษาแบบ Reactive ที่จะซ่อมเมื่อเครื่องจักรพัง และ Preventive ที่จะซ่อมเพื่อป้องกันเครื่องจักรพังมาผสมกัน
อยากเริ่มดูแลรักษาโรงงานด้วยการบำรุงรักษาเชิงรุกต้องเริ่มจากอะไร
การบำรุงรักษาเชิงรุกมีประโยชน์ระยะยาวกับโรงงานอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการรักษาคุณภาพของเครื่องจักรให้ยังมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ดีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษากำไรให้มีความคุ้มทุนในการบำรุงรักษาอยู่ จึงไม่แปลกเลยถ้าใครจะสนใจนำมาใช้ในโรงงานของตนบ้าง แต่ว่าการจะเริ่มนำวิธีการเหล่านี้มาใช้โดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากอะไรก็คงจะเป็นเรื่องที่ลำบากเกินไป
ดังนั้น ในบทความนี้ได้รวบรวมวิธีเริ่มต้นพัฒนา ปรับเปลี่ยนการดูแลโรงงานให้พร้อมจะเป็นในรูปแบบ Proactive Maintenance มากขึ้น โดยที่ขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ตามความเหมาะสม และบางขั้นตอนอาจจะใช้เวลามากกว่าขั้นตอนอื่นในการทำ ซึ่งการเริ่มต้นใช้ระบบนี้ก็สามารถทำได้ด้วยขั้นตอนดังนี้
ใส่ใจในการพัฒนาทักษะของช่างซ่อมบำรุงให้มากขึ้น สนับสนุนให้ความรู้ จัดอบรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาคุณภาพของช่าง เพราะระบบการบำรุงรักษาเชิงรุกจะมีประโยชน์กว่าเมื่อทำโดยผู้ที่มีทักษะสูง
แทนที่จะรอให้เครื่องจักรเกิดความผิดพลาดหรือพังก่อนแล้วค่อยซ่อม ให้เริ่มวางแผนและกำหนดการซ่อมบำรุงล่วงหน้า จะได้รู้ว่าต้องใช้ช่างและอะไหล่แค่ไหน เพื่อการซ่อมแซมที่รวดเร็วและราบรื่น
เริ่มจากการดูแลอุปกรณ์ เครื่องจักรที่สำคัญก่อน เพราะเครื่องจักรเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นกับโรงงานที่สุด ซึ่งการบำรุงรักษาเชิงรุกกับเครื่องจักรเหล่านี้ จะให้ผลตอบแทนความคุ้มค่ามากที่สุด
เก็บรวบรวมข้อมูลสาเหตุที่ทำให้เครื่องจักรผิดปกติ เมื่อรวบรวมข้อมูลมากพอแล้วการป้องกันการเกิดซ้ำ และการคาดการณ์การซ่อมแซมก็จะง่ายขึ้น
วิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน บางครั้งเหตุผลที่ทำให้เครื่องจักรเสียหายอาจจะไม่ได้เห็นได้ง่าย หรือ เหตุที่แท้จริงอาจจะยังตกหล่นอยู่ ดังนั้นการทำการสำรวจอย่างละเอียดกับสาเหตุเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างมากในการปรับเปลี่ยนโรงงานมาสู่ระบบการบำรุงรักษาเชิงรุก
ข้อดีของ Proactive Maintenance
การบำรุงรักษาเชิงรุกนั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีข้อดีหลากหลาย และมีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างความคุ้มค่าในการดำเนินการบำรุงรักษาโรงงานให้มีคุณภาพที่ดี และมีราคาที่สมน้ำสมเนื้อ มีประสิทธิภาพ ทำให้มีความน่าสนใจในการนำไปใช้กับโรงงานหลายๆ แห่ง โดยข้อดีของการทำ Proactive Maintenance ก็เช่น
ป้องกันการสะดุดของการทำงาน บางครั้งเครื่องจักรอาจจะพังในเวลาที่สำคัญมากๆ การบำรุงรักษาเชิงรุกจะช่วยป้องกันเหตุการณ์นี้ให้เกิดขึ้นน้อยลงได้
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หลายๆ ครั้ง โรงงานอาจจะละเลยการบำรุงรักษาหรือ บำรุงรักษามากเกินความจำเป็น ทั้งสองเหตุการณ์นี้ล้วนทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิตลง การบำรุงรักษาเชิงรุกตั้งเป้ามาเพื่อลดการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้
ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับโรงงาน ด้วยการวางแผนล่วงหน้า การวิเคราะห์รับรู้สาเหตุการพังของเครื่องจักร และสภาพการใช้งานของเครื่องจักร สิ่งที่เคยควบคุมไม่ได้ ก็จะควบคุมได้ นำไปสู่ความมั่นคงที่มากขึ้นไป
จะเห็นว่าประโยชน์มีมากจริงๆ และยังสามารถช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับระบบอื่นๆของโรงงานต่อเนื่องไปได้อีกด้วย ถึงอย่างนั้นการบำรุงรักษาเชิงรุกเองก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การตรวจสอบที่ต้องการผู้มีทักษะในงานช่างที่สูง การลงทุน ลงแรงที่มากกว่าการซ่อมเมื่อตอนพัง ที่อาจจะมอบความท้าทายให้กับหลายๆ โรงงานในระดับเล็กๆ ได้
การดำเนินการบำรุงรักษาคุณภาพของเครื่องจักรถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการดูแลรักษาประสิทธิภาพของเครื่องจักรภายในโรงงาน ซึ่งโดยปกติแล้วหลายๆ โรงงานมักจะเลือกดูแลรักษาเชิงรับ ที่เมื่อเครื่องจักรมีปัญหาแล้วจึงทำการซ่อมแซม ซึ่งนอกจากจะมีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพในช่วงที่เครื่องจักรเริ่มเสื่อมโทรมลงจนทำงานได้ไม่เต็มที่แล้ว ยังเป็นวิธีการบำรุงรักษาที่ไม่คำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าในความถี่ของการซ่อมแซมเหมือนการบำรุงรักษาเชิงรุก ด้วย
ดังนั้นบางโรงงานจึงเลือกวิธีการบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance) ซึ่ง Proactive Maintenance คือ การดูแลรักษาตามรอบอายุการใช้งาน ที่มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความคุ้มค่าของทั้งเงินทุน ทรัพยากร เวลา และ ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน วิธีนี้สามารถยืดอายุเครื่องจักรได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องจักรได้ด้วย
บทความแนะนำ
- เว็บไซต์สมาชิก
CC-Link Partner
Association (CLPA)